วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ฝนตกแบบนี้ ดูแลสวนในบ้านอย่างไรดี

วันนี้ Planet for home ขอนำเสนอบทความการดูแลสวนช่วงหน้าฝน สำหรับคนที่มีบ้านสวยสวนสวย หลายๆครอบครัวหลังจากจ้างบริษัทรับสร้างบ้าน หรือซื้อบ้านจากโครงการกันแล้ว ก็มาเนรมิตภายในบ้านให้สวยงาม รวมไปถึงบริเวณนอกบ้านอย่างการจัดตกแต่งสวนหย่อม หรือการปลูกต้นไม้ขนาดกะทัดรัดจัดเป็นสวนสวย แต่ตอนนี้ฝนตกยาวกันอย่างต่อเนื่อง  เจ้าของบ้านที่มีสวนสวยๆ หลายคนก็คงออกอาการดีใจกับสายฝนที่เข้ามา ดีออกไม่ต้องออกมายืนรดน้ำกันบ่อยๆ ประหยัดน้ำด้วย ต้นไม้ก็สวย  เขียวขจี ร่มรื่น  อย่าเพิ่งดีใจไปค่ะ   ถ้าน้ำที่มาจากสายฝนมากไป ต้นไม้ก็อาจจะตายได้ง่ายๆ หรือต้นไม้อาจจะสร้างปัญหาหรือความเสียหายให้กับตัวบ้านได้    หน้าฝนแบบนี้ เจ้าของสวนต้องดูแลสวน ดูแลต้นไม้อย่างไหร่ วันนี้มีคำแนะนำการดูแลสวนในช่วงหน้าฝนมาฝากกัน



ตัดแต่งกิ่งใบให้โปร่ง

จริงๆ แล้ว เรื่องนี้ต้องเตรียมการก่อนจะถึงหน้าฝนแล้ว แต่สำหรับคนที่ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน ตอนนี้ก็ยังพอแก้ไขได้ทัน   ทำไมต้องตัดด้วย กำลังเขียวสวยเชียว?  เชื่อได้ว่าหลายคนต้องถามแบบนี้   ที่ต้อง (จำใจ) ตัดก็เพราะว่า เวลาฝนตกหนักๆ แรงๆ แล้วยังลมแรงด้วย พัด ปั่นยอดไม้ม้วนไป ม้วนมาน่าหวาดเสียว ดีไม่ดี ต้นไม้กิ่งเปราะ หักง่าย กิ่งอาจจะฉีก ลงมาพาดสายไฟ สายโทรศัพท์ ขาดได้  เสียเวลาซ่อมสายกันอีกเป็นวันๆ หนักกว่านั้น กิ่งไม้ที่ฉีกลงมาอาจจะไปฟาดเข้ากับกระเบื้องหลังคาแตก เสียหาย น้ำรั่วเข้าบ้านเอาได้  อีกอย่างหนึ่ง การตัดแต่งพุ่มใบต้นไม้ให้โปร่งก็ช่วยลดโอกาสที่ลมจะพัดให้ต้นโค่นล้มได้ด้วย นอกจากเรื่องความปลอดภัยแล้ว การตัดแต่งกิ่งไม้ให้โปร่งขึ้นก็เป็นการตัดตอน ไม่ให้ต้นไม้กลายเป็นแหล่งรวบโรคและแมลง มดต่างๆ ที่จะมาอาศัยตามกิ่งใบรกทึบได้ ก่อนจะตัดกิ่งไหน ก็เดินวนๆ รอบตัวดูก่อนว่า กิ่งไหนบ้างที่ควรจะตัดออก หรือกิ่งอาจจะพาดไปโดนตัวบ้าน หรืออยู่ใกล้สายไฟมากไปแล้ว เลือกจากกิ่งที่แคระแกร็น ไม่แข็งแรง หรือกิ่งเป็นโรคออก  ดูวิธีตัดแต่งกิ่งไม้ได้ที่นี่ ช่วงไหนที่เหมาะจะตัดแต่งต้นไม้?

เวลาตัด แนะนำว่าให้จ้างคนที่ชำนาญ ที่เขาตัดกิ่งไม้อยู่ประจำมาทำให้จะดีกว่าไปปีนป่ายตัดเอง แต่ถ้าคิดว่าทำเองได้ ปีนต้นไม้เป็น ก็จะทำเองก็ได้ไม่เสียหาย ยกเว้นต้นไม้ที่อยู่ใกล้สายไฟ  ย้ำว่า ให้ทางการไฟฟ้าเขามาตัดให้ปลอดภัยที่สุด

เตรียมพร้อม ถ้าสวนจมน้ำ  
เวลาฝนตกหนักๆ ลองสังเกตดูว่า ในสวนมีน้ำท่วมขังนานแค่ไหน  ถ้าขังแล้วแห้งเร็ว ก็ไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าฝนตกแล้ว ท่วมขัง น้ำไม่ยอมไหลไปไหน ก็ต้องลุกขึ้นมาออกสำรวจกันแล้วว่า เกิดอะไรขึ้น เพราะว่าต้นไม้บางต้นที่เราเลือกมาปลูก เราก็อาจจะไม่ได้เลือกชนิดที่ทนทานน้ำท่วมได้  ถ้าฝนตกบ่อยๆ แล้วตกหนักๆ  ต้นไม้ต้นนั้นอาจจะตายเพราะน้ำท่วมได้ ที่มาของน้ำมาจากไหน  มายังไง แล้วควรจะให้มันออกไปทางไหน  ทางที่น้ำเข้ามากับทางที่น้ำออกขนาดเท่ากันมั้ย ถ้าทางเข้ากว้างแต่ทางระบายออกแคบ กลายเป็นคอขวด น้ำจะระบายได้ช้าลง แต่ถ้าขนาดเท่ากัน น้ำก็จะระบายออกจากสวนเร็ว

ถ้าเป็นสวนที่มีการเตรียมตัว ทำทางระบายน้ำเอาไว้แล้ว  ก็ต้องไปสำรวจตรงท่อหรือทางระบายน้ำที่ทำไว้ว่า ยังระบายได้ดีอยู่มั้ย มีเศษใบไม้ ขยะ เศษตะกอนดินหรือสิ่งแปลกปลอมไปอุด ขวางทางน้ำอยู่มั้ย  ถ้ามีก็กำจัดออกไปให้หมด

แต่ถ้าเป็นสวนที่ไม่ได้เตรียมเรื่องท่อหรือทางระบายน้ำไว้  เคสนี้ เราก็ต้องหาทางช่วยระบายน้ำ ด้วยการเซาะดินเปิดร่องให้น้ำไหลออกมาจากจุดที่ท่วมขัง ไปยังท่อระบายน้ำให้เร็วที่สุด

เติมออกซิเจนให้ดิน
เวลาที่ฝนตก ดินมักจะชุ่มเพราะอุ้มน้ำเอาไว้ หลังฝนตกลองลงไปเดินในสวน ดินจะชุ่มน้ำมาก เหยียบตรงไหนแทบจะเห็นน้ำซึมขึ้นมาเลย  ช่วงที่ดินอุ้มน้ำไว้เยอะๆ  ดินก็จะขาดออกซิเจนในดิน รากของต้นไม้ที่อยู่ในดิน ก็จะขาดออกซิเจน รากอาจจะเน่าได้

วิธีเติมออกซิเจนให้ดินก็คือ พรวนดินเพื่อให้หน้าดินได้เปิดรับอากาศ ระบายความชื้นในดินออกบ้าง น้ำก็จะไหลลงไปยังดินชั้นล่างได้มากขึ้น ไม่อุ้มขังอยู่ในระดับผิวดิน  ซึ่งระดับผิวดินนี่แหละที่รากฝอยของต้นไม้ใช้เป็นแหล่งสูดออกซิเจนเข้าไป ถ้าผิวดินมีแต่น้ำ รากก็จะสำลักน้ำ

ตรวจสอบไม้ค้ำยันไม้ปลูกใหม่
เดี๋ยวนี้ไม้ใหญ่ที่ปลูกกันตามบ้าน ยิ่งเป็นหมู่บ้านที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ ด้วยแล้ว ร้อยทั้งร้อยไม้ใหญ่ที่ปลูกไว้จะเป็นพวกไม้ขุดล้อมมาปลูกทั้งนั้น รากยังเดินไม่ได้ไกล ยังยึดดินไม่แน่นพอ  ฝนตกไม่เท่าไหร่ก็ทำให้ดินนุ่ม ลมกรรโชกแรง เล่นเอาต้นไม้โยกเยก หรือโค่นลงมาง่ายๆ ดังนั้นต้นไม้ที่เพิ่งลงดินปลูกใหม่ๆ เขาถึงต้องมีไม้ค้ำยันคอยประคองไม่ให้ต้นโยกเอนหรือโค่น

ควรตรวจสอบไม้ค้ำยันว่าแข็งแรงดีมั้ย มีปลวก มอดไม้กินมั้ย   ที่ต้องทำค้ำยันกันก็เพราะว่าต้นไม้ใหญ่พวกนี้ ส่วนใหญ่เป็นไม้ที่ขุดล้อมรากขึ้นมา พอเอามาลงดินปลูก รากมีน้อย อาศัยยึดเกาะ พยุงลำต้นเองยังไม่ได้  ยิ่งช่วงที่ฝนตกหนัก เกิดมีลมแรงด้วย ลมจะพัดต้นโยกไปโยกมาตามแรงลม รากที่กำลังแตกใหม่ก็จะกระทบกระเทือน ระบบรากเสียหาย หาอาหารได้ไม่เต็มที่ ต้นก็จะหยุดโต

จัดการวัชพืช
อย่างที่บอก หน้าฝน ต้นอะไรก็งามไปหมด รวมถึงวัชพืช หรือต้นหญ้าต่างๆ ที่จะมาแย่งสารอาหารต้นไม้ในสวนของเรา ที่สำคัญกว่าจะปราบหมดไม่ง่ายเลย   ถ้าคนที่เคยรบกับวัชพืชมาก่อนจะรู้ดีว่า ช่วงหน้าฝนนี่แหละ ปราบหญ้ายากที่สุด เพราะหญ้าจะแพร่กระจายเร็วมาก เนื่องจากดอกหญ้าแก่ถูกพัดพาไปกับน้ำ ในดอกแก่จะมีเม็ดที่งอกเป็นต้นได้อยู่ข้างใน พอดอกแก่ไปตกอยู่ที่ไหน ด้วยอุณหภูมิกำลังดี ความชื้นกำลังได้ เม็ดดอกหญ้าก็จะงอกออกมาเป็นต้นเร็วมาก  วิธีป้องกันไม่ให้ดอกหญ้าแก่กระจายก็คือ เวลาที่จัดการ ถอนวัชพืชออกจากสวนแล้วให้นำไปทิ้งให้พ้นบริเวณสวน

ถ้าเราปล่อยวัชพืชขึ้นจนรก หญ้ารกๆ พวกนี้ก็จะกลายเป็นโรงแรมหรูชั้นดีให้กับสัตว์ไม่พึ่งประสงค์ แมลงมีพิษ มด ปลวก งู มาขอ check in  เข้าพักกัน  และความรก ทึบ แสงไม่สามารถลอดผ่านลงไปที่ดินได้เลย ก็จะทำให้สวนของเรากลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคอีกต่างหาก

วิธีจัดการกับวัชพืช เท่าที่เห็นกัน ส่วนใหญ่ก็จะใช้เครื่องตัดกัน แต่จากประสบการณ์การอยู่บ้านกลางสวน เคยเห็นชาวสวนเขารบกับหญ้าคาสูงท่วมหัวมาแล้ว เขาจะไม่ใช้เครื่องตัด หรือเอามีดไปฟันๆ กันแต่เขาจะใช้การขุดรากถอนโคนกันทีละต้นๆ  (วิธีนี้อาจจะใช้เวลาหน่อย แต่ได้ผลน่าพอใจ  จัดการได้เกลี้ยงเกลา อีกนานเลยกว่าที่หญ้าจะขึ้นมาอีก แต่ถ้าใช้เครื่องตัด ยิ่งเป็นหน้าฝนแบบนี้ ตัดไปไม่เกินสองวัน เดี๋ยวก็งอกขึ้นมาใหม่

งดปุ๋ย
หน้าฝน ต้นไม้จะได้น้ำเต็มที่ ต้นจะค่อนข้างสมบูรณ์อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องให้ปุ๋ยเลยก็ได้ หรือถ้ากลัวว่าต้นไม้จะขาดสารอาหารที่จำเป็น ก็เปลี่ยนมาให้น้อยลง   อีกอย่างถ้าคุณโรยปุ๋ยไว้โคนต้น  เวลาที่ฝนตก น้ำฝนก็จะชะเอาปุ๋ยละลายหายไปกับน้ำจนหมด สุดท้ายต้นไม้ก็ไม่ได้รับสารอาหารอยู่ดี  ถ้าจำเป็นต้องให้ปุ๋ยจริงๆ ก็อาจจะต้องออกแรงพรวนดินรรอบโคนต้นเล็กน้อยพอให้ปุ๋ยลงไปอยู่ตามซอกหลืบต่างๆ ในดิน

เป็นคำแนะนำเบื้องต้นในการดูแลสวนสำหรับหน้าฝนนี้ หวังจะได้ไอเดียเอาไปใช้ดูแลสวนสวยๆ รับมือหน้าฝนที่สายฝนชุ่มฉ่ำกำลังมาเยือนเราอยู่ในตอนนี้กัน

สร้างบ้าน   รับสร้างบ้านคุณภาพ  บริษัทรับสร้างบ้าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น